การจัดการเลี้ยงดูโคเนื้อ

ซองตัดแต่งกีบโคนม
June 13, 2017
การควบคุมบังคับโค และการฆ่าโดยไม่ทำให้สัตว์สลบ
June 13, 2017

การจัดการเลี้ยงดูโคเนื้อ

การจัดการเลี้ยงดูโคเนื้อ

ในระบบการผลิตโคเนื้อ สามารถแยกลักษณะของกิจการออกเป็นส่วนต่างๆ ได้ดังนี้

  1. การเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์แท้
  2. การเลี้ยงแม่โคเพื่อผลิตโครุ่นสำหรับขุน
  3. การเลี้ยงโคขุน
  4. โรงงานฆ่าสัตว์และทำผลิตภัณฑ์เนื้อ
  5. การจำหน่ายเนื้อโคและผลิตภัณฑ์

ผู้ประกอบการอาจจะดำเนินกิจการเฉพาะกิจการใดกิจการหนึ่งเท่านั้น เช่น เลี้ยงเฉพาะโคพันธุ์แท้ เพื่อขายสาหรับใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ อีกฟาร์มหนึ่งอาจจะเลี้ยงแม่โคเพื่อผลิตโครุ่นลูกผสมสำหรับขุน หรืออาจจะเลี้ยงเฉพาะโคขุน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอาจจะดำเนินกิจการมากกว่าหนึ่งอย่าง หรืออาจจะรวมทุกกิจการทั้งหมดมาดำเนินการแบบครบวงจรก็ได้

  1. การเลี้ยงแม่โค

ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงโคพันธุ์แท้หรือการเลี้ยงแม่โคเพื่อผลิตโครุ่นสำหรับขุน การเลี้ยงแม่โคมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ให้ได้จำนวนลูกโคหย่านมสูงสุด ให้แม่โคคลอดลูกได้ปีละตัว ลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่ต้องการคือ สมรรถภาพในการสืบพันธุ์ของแม่โค(reproductive performance) ซึ่งพิจารณาจากจำนวนลูกหย่านมคิดเป็นร้อยละของแม่โคในฝูง และน้ำหนักหย่านม (weaning weight) ของลูกโค

1.1  การให้ลูกของแม่โค ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการให้ลูกของแม่โคได้แก่

1.1.1   พันธุ์โค

1.1.2   สภาพทางโภชนาการของแม่โค

1.1.3   การควบคุมการผสมพันธุ์

1.1.4   ความสมบูรณ์ในการสืบพันธุ์

1.1.5   สัดส่วนพ่อโค : แม่โค

การเลือกพันธุ์โคที่เหมาะสมและปรับตัวเข้าสภาพแวดล้อมมีความสำคัญ โคยุโรปพันธุ์แท้หรือโคที่มีสายเลือดพันธุ์ยุโรปสูงกว่าร้อยละ 75 มักจะทนอากาศร้อน แมลง และโรคได้ไม่ดี ทำให้การสืบพันธุ์มีปัญหาไปด้วย นอกจากแม่โคที่นำมาเลี้ยงควรจะปรับตัวกับอุณหภูมิได้แล้วยังต้องปรับตัวเข้ากับภูมิประเทศได้ด้วย เช่น ความลาดชันของพื้นที่ ความแห้งแล้ง นอกจากนี้ความสามารถในการแทะเล็มกินอาหารก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่เลี้ยงโคไม่สู้จะมีอาหารสมบูรณ์

สภาพทางโภชนาการของแม่โค ไม่เพียงแต่จะขึ้นกับปริมาณอาหารที่โคกินได้ แต่ขึ้นกับคุณภาพและความสมดุลของโภชนะด้วย แม่โคที่ได้รับอาหารไม่พอ ขาดโปรตีน และขาดแร่ธาตุ ส่งผลให้แม่โคมีช่วงการตกลูก (calving interval) มีระยะห่างเกินกว่า 1 ปี

การควบคุมการผสมพันธุ์ ได้แก่ การจัดการไม่ให้มีการผสมเลือดชิด (เช่นพ่อผสมลูก หรือพี่น้องผสมพันธุ์กันเอง) ไม่ให้โคสาวที่ร่างกายยังมีขนาดเล็กถูกผสมพันธุ์

พ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงควรปลอดจากโรคซึ่งทำให้แท้งลูกหรือผสมติดยาก เช่น โรคบูรเซลโลสิส (Brucellosis) พ่อพันธุ์ที่นำมาใช้ผสมพันธุ์ ควรจะทดสอบคุณภาพน้ำเชื้อ พ่อโคควรมีความอยากผสมพันธุ์ ควรคัดทิ้งพ่อพันธุ์ที่ขี้เกียจผสมและเป็นหมันออกไป

ดูแลสัดส่วนพ่อโคต่อจำนวนแม่โคให้พอเหมาะ โดยทั่วไปพ่อโคที่โตเต็มที่ควรมีจำนวนที่ใช้คุมฝูงประมาณร้อยละ 3 ของจำนวนแม่โค หรือพ่อโคหนึ่งตัวต่อแม่โค 30 ตัว แต่ถ้าพ่อโคหนุ่มหรือสภาพพื้นที่เป็นอุปสรรคต่อพ่อโคในการติดตามผสมแม่โค จำนวนพ่อโคต่อแม่โคควรใช้ 1:15 – 1:20 หรือประมาณร้อยละ 5-6 ของจำนวนแม่โค

1.2  การผสมเทียม การนำวิธีผสมเทียมมาใช้กับการเลี้ยงโคฝูงนั้น มีความยุ่งยากหลายประการ เช่น การเฝ้า สังเกตการณ์การเป็นสัดของแม่โค ดังนั้นการผสมเทียมจึงไม่เป็นที่นิยมในการเลี้ยงโคพ่อ-แม่พันธุ์ฝูงใหญ่ กรณีที่ใช้วิธีผสมเทียมมักควบคุมการเป็นสัดโดยบังคับให้แม่โคเป็นสัดพร้อมกัน(estrus synchronization) การที่แม่โคเป็นสัดในระยะเวลาใกล้เคียงกันทำให้การจัดการผสมทำได้สะดวกขึ้น

1.3  การให้อาหาร แม่โคหลังคลอดลูกจนถึงเวลาผสมพันธุ์ ต้องการอาหารสำหรับฟื้นฟูระบบอวัยวะสืบพันธุ์ และผลิตน้ำนมดังกล่าว หากแม่โคมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจะทำให้การผสมติดดีขึ้นและลดระยะห่างของการให้ลูกลงได้ แต่การทำให้โคมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยให้อาหารข้นเสริมต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แม่โคหลังคลอดจะกินอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การให้แม่โคได้กินหญ้าอ่อนในแปลง 3-4 สัปดาห์ก่อนการผสมพันธุ์ แม่โคจะเริ่มทำน้ำหนักเพิ่มขึ้นและมีอัตราการผสมติดดีขึ้น แม่โคท้องใกล้คลอดจะกินอาหารน้อยกว่าเมื่อไม่ท้อง ดังนั้นระยะนี้จึงจำเป็นต้องให้อาหารคุณภาพดี หรืออาจต้องให้อาหารเสริมเพื่อชดเชยจำนวนอาหารที่แม่โคกินน้อยลง ถ้าให้อาหารพลังงานไม่เพียงพอจะมีผลทำให้อัตราการผสมติดต่ำ อัตราการตายของลูกโคเมื่อคลอดและหย่านมสูง การเลี้ยงโคฝูงเพื่อผลิตลูกโค โดยปกติจะใช้อาหารหยาบเป็นหลักเพื่อลดต้นทุนการผลิตลูกโค อาหารหลักที่ใช้เป็นหลักได้แก่ หญ้า พืชตระกูลถั่ว เศษเหลือจากการเพาะปลูกพืชที่นามาเลี้ยงโค เช่น ฟาง ต้นข้าวโพดหลังเก็บฝัก และต้นถั่ว เป็นต้น อาหารข้นจะให้ต่อเมื่อมีความจำเป็น เช่น อาหารหยาบไม่พอ หรือในกรณีต่างๆ เช่นลูกโคที่เจริญเติบโตช้า แม่โคผอม ไม่สมบูรณ์ โคป่วย พ่อพันธุ์ที่ใช้ผสมพันธุ์บ่อยครั้งกว่าปกติ หญ้าและพืชตระกูลถั่วที่ใช้เลี้ยงโค อาจจะอาศัยจากธรรมชาติตามพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ป่า หรือที่รกร้างยังไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ หรือจากการปลูกสร้างแปลงหญ้า

เพื่อป้องกันไม่ให้โคขาดแร่ธาตุสำคัญ ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโซเดียม ซึ่งโคต้องการในปริมาณสูงกว่าธาตุตัวอื่นๆ จึงควรวางแร่ธาตุในคอกให้โคได้เลือกกินตามใจชอบ ส่วนผสมแร่ธาตุง่ายๆ ใช้กระดูกป่น 2 ส่วนกับเกลือ 1 ส่วน หรืออาจจะซื้อแร่ธาตุก้อนวางให้โคเลียกิน สาหรับน้ำดื่มนั้นควรมีให้โคได้ดื่มน้ำสะอาดตลอดเวลา

หลักการให้อาหารโคเนื้อเลี้ยงปล่อยฝูง มีหลักดังนี้

  1. ในฤดูฝน คือ ช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน มีหญ้าสด ที่มีคุณภาพดีมาก อาจปล่อยโคเลี้ยงในแปลงหญ้าสด และตัดหญ้าสดให้กินอย่างเต็มที่ โดยไม่ให้อาหารข้นเลยก็ได้
  2. ในปลายฤดูหนาวและฤดูแล้ง นับตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงหญ้าเริ่มแก่ หญ้าเริ่มหมด และหญ้ามีคุณภาพต่ำ ควรให้อาหารข้นอย่างเต็มที
  3. ถ้าไม่แน่ใจว่าโคมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใดอาจพิจารณาให้อาหารข้นโคอย่างคร่าว ๆ ตัวละ 2 – 2.5 กิโลกรัม
  4. อาหารข้นโคเนื้อควรให้หลังจากโคกินหญ้าเต็มที่แล้ว คือให้ตอนเย็น วันละครั้งก็พอ
  5. พยายามกระจายอาหารให้ทั่วราง ให้โคทุกตัวได้กินอาหารพร้อม ๆ กัน อย่ากองอาหารเป็นจุด ๆ เพราะจะทำให้โคบางตัวถูกแย่งอาหาร
  6. ควรตั้งอาหารแร่ธาตุชนิดก้อนหรือชนิดผงไว้ให้โคกินตลอดเวลา ปกติแล้ว โคเนื้อจะกินอาหารแร่ธาตุวันละ 100 – 200 กรัม (วันละ 1 – 2 ขีด) แม้จะผสมอาหารแร่ธาตุ ในอาหารข้นแล้วก็ต้องเสริมอาหารแร่ธาตุตั้งทิ้งไว้ให้กินเสมอ
  7. แม่โคที่ตั้งท้อง ลูกในท้องเจริญเติบโตเร็วจึงต้องการอาหารมากกว่าปกติ ดังนั้นควรจะให้อาหารข้นอย่างน้อยวันละ 2.5 กิโลกรัม และให้หญ้าสดอย่างเต็มที่
  8. หมั่นถ่ายพยาธิโคเนื้อเสมอ โดยเฉพาะโคที่เลี้ยงใกล้ๆน้ำที่มีหอยซึ่งเป็น พาหะของพยาธิอยู่มาก
  9. มักจะพบอยู่เสมอว่าเกษตรกรไม่สามารถลงทุนเรื่องอาหารข้นได้ เพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย เกษตรกรควรแก้ปัญหาโดยใช้พืชตระกูลถั่ว เช่น ใบกระถิน ใบแค ถั่วฮามาต้า และถั่วอื่นๆ เป็นอาหารเสริมเลี้ยงโคโดยไม่ต้องให้อาหารข้นเลย เป็นการประหยัดสาหรับเกษตรกรอย่างยิ่ง

1.4  การดูแลแม่โคตั้งท้อง แม่โคที่ผสมติดและตั้งท้องและไม่แสดงอาการเป็นสัดอีก อย่างไรก็ตามเพื่อยืนยันการอุ้มท้องของแม่โค การล้วงทวารหนักเพื่อคลำมดลูก เป็นการตรวจท้องที่ปฏิบัติกันทั่วไป การตรวจท้องสามารถยืนยันได้หลังการผสมพันธุ์แม่โคแล้ว 50 วัน การเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงสภาพภายนอกร่างกาย ถ้าแม่โคอุ้มท้องไม่เกิน 5 เดือน ค่อนข้างสังเกตยาก แต่การตั้งท้องตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป แม่โคจะดูอ้วนขึ้น ขนาดท้องใหญ่ขึ้นจนสังเกตได้

ค่าเฉลี่ยการอุ้มท้องของแม่โคนาน 283 วัน โคบางพันธุ์อาจจะอุ้มท้องนานกว่านี้ โคบราห์มันมักอุ้มท้องนาน 285-290 วัน โคพื้นเมืองอุ้มท้องนานประมาณ 270-275 วัน

  1. การเลี้ยงลูกโค

2.1  การดูแลลูกโคเกิดใหม่

เมื่อลูกโคคลอดออกมาแล้ว แม่โคจะเลียเมือกที่ติดตัวลูกจนตัวลูกโคแห้ง การเลียนี้ช่วยกระตุ้นการหายใจและการไหลเวียนโลหิตของลูกโค กรณีที่แม่โคไม่แข็งแรงเลียตัวลูกโคไม่ได้ ผู้เลี้ยงต้องให้ความช่วยเหลือโดยช่วยล้วงเมือกในปากและจมูกออกมา เช็ดตัวให้แห้ง ถ้าสถานที่เลี้ยงไม่สะอาด ควรตัดสายสะดือลูกโค เพื่อป้องกันการติดเชื้อ วิธีตัดให้ใช้ด้ายผูกสายสะดือลูกโคห่างจากตัวลูกโคประมาณ 5 ซม. ตัดสายสะดือส่วนที่เหลือแล้วทาทิงเจอร์ไอโอดีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคและใช้ยาผงซัลฟาโรยสะดือ ป้องกันสะดืออักเสบและทำให้แห้งเร็วขึ้น เมื่อสายสะดือแห้งจะหลุดออกในที่สุด

หลังคลอดลูกควรปล่อยให้แม่โคอยู่กับลูกโคอย่างอิสระ ลูกสามารถยืนและดูดนมแม่ได้หลังจากคลอดประมาณครึ่งชั่วโมง หากลูกโคช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องให้ความช่วยเหลือให้มันกินนมแม่โดยเร็ว นมแม่ที่ให้ในระยะ 3-5 วันแรกนี้ เรียกว่านมน้ำเหลือง (colostrums) มีคุณค่าทางอาหารสูงและให้ภูมิต้านทานโรคแก่ลูกโค ระยะ 1-2 เดือนหลังคลอด ไม่ควรปล่อยให้ลูกโคตามแม่ไปหากินไกล ควรจัดแปลงหญ้าที่มีอาหารบริบูรณ์แก่แม่โคเลี้ยงลูกในระยะนี้  การเจริญเติบโตของลูกโคระยะดูดนมแม่ขึ้นกับการให้นมของแม่เป็นสำคัญ เพราะลูกโคกินอาหารอื่นไม่ได้มาก ดังนั้นน้ำหนักหย่านมของลูกโคจึงเป็นตัวสะท้อนความสามารถในการให้นมเลี้ยงลูกของแม่โค ปกติจะหย่านมลูกโคเมื่ออายุได้ประมาณ 7 เดือน ที่อายุนี้ลูกโคกินหญ้าได้เก่งและพึ่งตัวเองได้แล้ว กรณีที่แปลงหญ้าไม่สมบูรณ์ หรือต้องการให้ลูกโคโตเร็ว อาจจะเสริมอาหารให้ลูกโคได้กิน โดยกั้นเป็นคอกที่มีช่องให้ลูกโคเข้าไปกินอาหารข้นเสริม แต่โคใหญ่ไม่สามารถเข้าไปกินได้ อาหารลูกโคนี้เรียกว่า creep feed มักจะมีส่วนผสมง่ายมีโปรตีนประมาณร้อยละ 13 ใช้วัตถุดิบอาหาร ได้แก่ รำ ปลายข้าว กากถั่วเหลือง เกลือ กระดูกป่น ผสมรวมกัน

การให้ creep feed แก่ลูกโคควรจะปฏิบัติเมื่อ

  1. ตลาดมีความต้องการลูกโคหย่านมน้ำหนักสูงและให้ราคาดี
  2. creep feed มีราคาไม่แพง
  3. แม่โคเป็นโคสาวที่เพิ่งให้ลูกครั้งแรก
  4. แปลงหญ้ามีสภาพไม่สมบูรณ์
  5. ลูกโคคลอดในฤดูแล้ง อาหารแม่โคไม่สมบูรณ์
  6. แม่โคถูกเลี้ยงขังในคอก

ไม่ควรจะให้ creep feed เมื่อ

  1. แปลงหญ้ามีสภาพดีและแม่โคให้นมเลี้ยงลูกดี
  2. ลูกโคจะถูกนำไปเลี้ยงต่อในแปลงหญ้าหลังหย่านมแล้ว
  3. creep feed มีราคาสูงเมื่อเทียบกับอาหารโครุ่น
  4. เมื่อต้องการศึกษาน้ำหนักหย่านมและความสามารถในการให้นมของแม่โค เพราะการให้creep feed จะทำให้ผลการศึกษาคลาดเคลื่อน

2.2  การหย่านมลูกโค

ควรหย่านมลูกโคที่อายุประมาณ 6 เดือนครึ่งถึง 7 เดือน แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงสุขภาพของลูกโคและแม่โคด้วย เมื่อหย่านมลูกโคที่อายุประมาณ 200 วัน ควรมีน้ำหนักหย่านมเฉลี่ย 180 กก. โดยปกติ หากหย่านมลูกโคเร็วเท่าใดก็จะทำให้แม่โคมีโอกาสฟื้นฟูสุขภาพเร็วเท่านั้น ลูกโคที่โตเร็วก็สามารถอย่านมได้เมื่ออายุประมาณ 5 เดือน จะมีผลให้แม่โคสุขภาพไม่ทรุดโทรมมากนัก เมื่อหย่านมแล้ว ควรทำการชั่งน้ำหนักลูกโคเพื่อบันทึกไว้ นอกจากนั้นควรทำการตอนลูกโคเพศผู้ ทำการถ่ายพยาธิ และแยกลูกโคเลี้ยงเป็นฝูงต่างหาก

2.3 การจัดการลูกโค

การปฏิบัติเลี้ยงดูลูกโคอื่นๆ ควรทำดังนี้

  1. เมื่อลูกโค อายุ 3 สัปดาห์ ควรถ่ายพยาธิตัวกลม และถ่ายซ้ำอีกเมื่ออายุ 6 สัปดาห์
  2. เมื่อลูกโค อายุ 3-8 เดือน ทำการฉีดวัคซีนโรคแท้งให้กับลูกโคเพศเมียทุกตัว
  3. เมื่อลูกโค อายุ 4 เดือน ทำการฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย

2.3.1 การตอน (castration) ลูกโคตัวผู้ที่ไม่ต้องการนำไปใช้ขยายพันธุ์ ควรทำการตอน เนื่องจากโคตัวผู้ที่ไม่ตอนจะมีความคึกคะนองเนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศผู้ ทำให้มีปัญหาในการจัดการ และดุร้าย แม้ว่าโคที่ไม่ตอนจะมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าโคที่ตอนก็ตาม แต่การตอนก็จะทำการจัดการโคได้ง่ายขึ้น การตอนนิยมตอนเมื่ออายุ 4-5 เดือน ยกเว้นหากต้องการใช้ทำงานอาจตอนเมื่อโคมีอายุที่มากกว่านี้ คือประมาณ 3-4 ปี เพื่อให้โคตัวผู้มีการพัฒนาตามลักษณะของโคตัวผู้อย่างเต็มที่ก่อน การตอนมักจะกระทำกับโคเพศผู้ ไม่นิยมตอนโคเพศเมีย เพราะ เพศผู้ตอนง่ายกว่า โคเพศผู้ที่มีลักษณะไม่ดี อาจแพร่พันธุ์และก่อความยุ่งยากมากกว่าโคเพศเมีย โคตัวผู้ที่ตอนแล้วจะเชื่อง ไม่ดุร้าย การตอนโคเพศผู้ทำได้โดยวิธีต่างๆ เช่น การผ่าเอาอัณฑะออก การใช้ยางรัดขั้วอัณฑะ และการใช้คีมเบอร์ดิสโซ (Burdizzo)

วิธีใช้ยางรัดขั้วอัณฑะเหมาะกับลูกโคที่อายุน้อยประมาณ 2-3 สัปดาห์ การผ่าเอาอัณฑะออก ควรทำกับลูกโคเล็กเพราะสัตว์จะเจ็บปวดน้อย ส่วนการใช้คีบหนีบเส้นอัณฑะทำได้กับสัตว์ทุกอายุ วิธีนี้เหมาะกับสัตว์โตแล้ว เพราะเจ็บปวดน้อยกว่าวิธีอื่น คีมตอน เรียกชื่อว่า เบอร์ดิสโซ (Budizzo) โดยการบังคับโคให้ล้มนอนตะแคง จากนั้นใช้ Burdizzo หนีบให้ท่อนำน้ำเชื้อเหนือลูกอัณฑะทีละด้าน เพื่อให้ท่อนำน้ำเชื้อตีบ น้ำเชื้อไม่สามารถผ่านได้ ข้อควรระวังในการหนีบต้องไม่ให้รอยหนีบตรงกัน และให้เหลือช่องว่างระหว่างรอยหนีบมากที่สุด เพื่อให้เส้นเลือดไปเลี้ยงถุงอัณฑะได้ให้มากที่สุด

ภาพที่  5.1  เบอร์ดิสโซ (Budizzo) และการตอนโคด้วยเบอร์ดิสโซ

การตอนลูกโคเพศผู้

  1. ลูกโคเพศผู้ควรจะทำการตอนเมื่อหย่านมแล้ว หากเจ้าของไม่คิดจะเก็บลูกโคไว้ทำพันธุ์

ให้ทำการตอนลูกโคทันที

  1. เมื่อเริ่มตอน ต้องจับสัตว์ล้มลง มัดให้แน่นทั้ง 4 ขา อย่าให้สัตว์ดิ้นได้
  2. เช็ดบริเวณอัณฑะด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน
  3. จับเส้นนำน้ำเชื้อบริเวณเหนือลูกอัณฑะเล็กน้อย จับให้แยกจากกันสองข้าง แล้วใช้เครื่องตอน (เบอร์ดีโซ่) หนีบให้แน่นจนเครื่องหนีบล็อกอยู่กับที่ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที แล้วจึงหนีบเส้นที่สอง
  4. ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนทาบริเวณที่หนีบ แล้วโรยด้วยยากันหนอน
  5.  ฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน
  6. หลังจากตอนแล้ว 2-3 วัน อย่าปล่อยให้โคลงน้ำ จะทำให้แผลเน่า ลูกอัณฑะจะยุบลงเป็นปกติภายในเวลา 10-12 วัน

2.3.2  การกำจัดเขา (dehorning) การทำลายเขาเป็นวิธีการทำให้เซลล์ของปุ่มเขาตายไปด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อไม่ให้โคมีเขา ไม่ให้ปุ่มเขามีการเจริญเติบโต ทั้งนี้เนื่องจากการที่โคมีเขาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้เลี้ยง และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ อาจทำให้เกิดการทำร้ายกันเอง ทำให้เกิดบาดแผล เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา โคบางตัวอาจมีเขายาวโง้งเข้ามาทิ่มแทงใบหน้าหรือตาตนเองได้ นอกจากนี้โคที่มีเขายาว ๆ ยังทำให้สิ้นเปลืองเนื้อที่รางอาหาร พื้นที่คอก และเสียพื้นที่การขนส่ง โดยการทำลายควรทำเมื่อโคอายุน้อย เนื่องจากปุ่มเขามีขนาดเล็ก ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นก็น้อยกว่า การบังคับสัตว์ทำได้ง่าย และแผลก็จะหายได้เร็ว การกำจัดเขามีหลายวิธี ได้แก่ การใช้สารเคมี การใช้ความร้อนจี้ตุ่มเขา การควักเอาเขาออก การตัดเขา การใช้สารเคมีพวกด่าง และความร้อนจี้ ทำลายเซลล์ตุ่มเขาขณะที่เป็นลูกโค จะกำจัดไม่ให้เขางอกออกมาได้ แต่ถ้าเขางอกออกมาบ้างจะใช้เครื่องมือควักเขาออกหรือตัดให้สั้น

วิธีการทำลายเขา

  1. การใช้สารเคมี (Chemical dehorning) วิธีที่นิยมใช้ส่วนใหญ่คือการใช้โซดาไฟ อาจใช้ในรูปแบบแห้ง หรือใช้ในรูปของเหลวคล้ายยาสีฟัน ใช้กับลูกโคเมื่อแรกเกิดอายุไม่เกิน 10 วัน โดยตัดขนบริเวณรอบๆ ปุ่มเขาออก ใช้ขี้ผึ้งหรือจารบีทารอบๆ ปุ่มเขาเพื่อป้องกันไม่ให้โซดาไฟไหลไปถูกบริเวณอื่น จากนั้นใช้กระดาษทรายถูบริเวณปุ่มเขาให้เกิดแผลถลอก เอาแท่งโซดาไฟถูบริเวณปุ่มเขาจนมีเลือดซึมเล็กน้อย ถ้าเป็นชนิดเหลวข้นให้เอาโซดาไฟเหลวทาบนปุ่มเขา ในพื้นบ้านใช้ปูนแดงกับสบู่กรดในปริมาณเท่าๆ กัน กวนผสมน้ำจนเหลวคล้ายยาสีฟัน ใช้แทนโซดาไฟเหลวได้ ควรระวังในช่วงแรกที่ทาโซดาไฟให้แยกลูกโคออกจากแม่อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อไม่ให้แม่เลียออก

ภาพที่  5.2  การใช้กรรไกรตัดขนก่อนใช้สารโซดาไฟ

ภาพที่  5.3  การทาปุ่มเขาด้วยโซดาไฟ

  1. การใช้ความร้อน (Hot Iron) เป็นการทำลายเซลล์ของปุ่มเขาให้ตายโดยใช้ความร้อนจี้บริเวณปุ่มเขา โดยเหล็กที่ใช้จี้เขาอาจใช้เป็นหัวแร้งไฟฟ้า หรือการใช้เหล็กร้อนโดยทั่วไปเป็นเหล็กกลมปลายเว้าบุ๋มเล็กน้อย เพื่อให้สัมผัสกับปุ่มเขาได้ดียิ่งขึ้น อายุลูกโคที่ควรจี้เขาสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์ ถึงประมาณ 3 เดือน หากอายุมากกว่านี้ก็สามารถทำได้ แต่การบังคับจะยากขึ้น เวลาในการจี้ก็จะนานขึ้นด้วย วิธีการโดยการบังคับโคให้นิ่งในท่านอนตะแคง นำเหล็กจี้เขาเผาไฟจนร้อน แล้วนำมาจี้ลงบนปุ่มเขาโดยหมุนวนไปเรื่อย ๆ รอบปุ่มเขาที่โผล่ขึ้นมาโดยไม่กด ใช้เวลาประมาณ 3 – 5 วินาที ขึ้นอยู่กับขนาดปุ่มเขา และความร้อนของเหล็ก จากนั้นใช้ลิควิด พาราฟิล น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันพืชทาที่แผลให้ทั่ว เพื่อระบายความร้อน และป้องกันแผลไม่ให้ถูกน้ำ จากนั้น 2 – 3 สัปดาห์แผลจะเริ่มแห้ง คอยระวังหนอนแมลงวันหากแผลเปิด จนกระทั่งแผลหายไปในที่สุด
  2. การตัดหรือเลื่อยเขา (Clipper and saws) นิยมใช้กับเขาที่มีนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะตัดก็ต่อเมื่อเขามีปัญหาเช่นเขาหัก แตก หรือเขาโง้งกลับเข้ามาทำอันตรายกับตัวสัตว์เอง ถ้าไม่ตัดออกจะก่อให้เกิดอันตรายกับสัตว์ได้ การตัดอาจใช้เลื่อยตัด หรือใช้คีมตัดเขาตัด จากนั้นใช้หัวแร้งเผาไฟจี้บริเวณรอยตัดเพื่อป้องกันเลือดออก จากนั้นทายาป้องกันแมลงวันเพื่อไม่ให้หนอนเข้าทำลาย และให้ยาแก้อักเสบ
  3. การใช้มีดหรือช้อนตัดเขา (Knife or Spoon dehorners) โดยการใช้มีด หรือช้อนตัดเอาปุ่มเขาออก โดยใช้กับลูกโคที่อายุน้อย

การดูแลลูกโคหลังจากการทำลายเขา

  1. ใช้ความร้อนในการห้ามเลือดให้หยุดไหลโดยเร็วที่สุด
  2. ใช้วาสลีน น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันพืชเคลือบรอยแผลที่เกิดจากการใช้ความร้อน
  3. การใช้ยาป้องกันหนอนแมงวันเข้าทำลายแผลที่เกิดจากการทำลายเขา
  4. แผลจะแห้งและหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ ช่วงนี้สัตว์อาจมีอาการคันและเอาแผลไปถูตามคอก ต้องคอยสังเกตและใส่ยา หากมีแผลเปิด

ภาพที่  5.4  เครื่องจี้เขาไฟฟ้า

ภาพที่  5.5  การทำลายเขาลูกโคด้วยการตัดและจี้ห้ามเลือด

ภาพที่  5.6  การใช้เหล็กร้อนจี้ห้ามเลือด

ภาพที่  5.7  คีมตัดเขาโค

 

ภาพที่  5.8  คีมตัดเขา และการตัดเขาโคดัวยคีม

2.3.3  การทำเครื่องหมาย (marking) การทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ มีความสำคัญมากในแง่ของการผลิตสัตว์พันธุ์แท้ เพื่อการรับรองพันธุ์ และเพื่อการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เพื่อให้สามารถทราบได้ว่าสัตว์ตัวนั้นคือสัตว์หมายเลขใด เกิดเมื่อไหร่ เกิดจากพ่อ แม่หมายเลขใด และเมื่อต้องมีการประเมินค่าทางพันธุกรรมของสัตว์เพื่อการคัดเลือกยิ่งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลของญาติพี่น้อง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายายมาร่วมในการประเมินด้วย การทำเครื่องหมายมีวิธีการต่าง ๆ คือ การประทับตราร้อนหรือเย็น (hot or cool branding) การสักหู (ear tattooing) การติดเบอร์หู (ear tagging) การตัดหู (ear notching)

  1. การสักเบอร์หู (Ear Tattoo) เป็นวิธีที่สามารถการทำเครื่องหมายได้ทันที่ลูกโคเกิด โดยการสักเบอร์ที่ภายในหูด้านในของใบหู โดยใช้คีมสักเบอร์หูสักให้เป็นรอยแผลรูปตัวเลข จากนั้นใช้หมึกอินเดียอิงค์หรือหมึกสักทาบริเวณที่เป็นรอยสัก เมื่อแผลหายก็จะมองเห็นเป็นตัวเลขที่ปรากฏใต้ผิวหนังอย่างถาวร ข้อควรระวังในการสักเบอร์หูควรระวังรอยสักไม่ให้ตรงกับเส้นเลือด เพื่อไม้ให้เลือดไหลออกมาก หากโคมีอายุมากขึ้นอาจจะเลอะเลือนหายไปบ้างก็ได

ภาพที่  5.9  อุปกรณ์เจาะเบอร์หู

  1. การติดเบอร์หู (Ear Tags) เป็นวิธีการทำเครื่องหมายโดยการติดเบอร์ที่เป็นพลาสติก และเขียนหมายเลขประจำตัวสัตว์โดยใช้ปากกาเขียนเบอร์ (Tag Pen) ซึ่งจะเป็นชนิดที่ติดอย่างถาวร อย่างไรก็ตามการติด Tag ควรระวังไม่ให้ตรงกับเส้นเลือดเช่นเดียวกัน เมื่อโคมีอายุมากขึ้นอาจจะทำให้เบอร์ Tag หลุดหายไปได้

 

ภาพที่  5.10  คีมติดเบอร์หู

ภาพที่  5.11  เบอร์หู (Tag)  และลูกโคที่ติดเบอร์หูแล้ว

  1. การตีเบอร์ที่ผิวหนัง (Hide Branding) ส่วนมากนิยมตีเบอร์เมื่อหย่านมลูกโคแล้ว หรือประมาณ 7 เดือน การตีเบอร์อาจมีทั้งตีเบอร์ร้อนโดยใช้เหล็กเผาไฟ และตีเบอร์เย็นโดยใช้น้ำแข็งแห้ง (dry ice) แต่ที่นิยมใช้กันคือการใช้เหล็กร้อน เพราะทำได้ง่าย ไม่เสียค่าใช่จ่ายมาก และมีความคงทนถาวรมากกว่า เบอร์ที่ใช้ตี อาจเป็นเบอร์เหล็ก หรือเบอร์ทองเหลือง โดยเบอร์จะประกอบด้วยรหัสฟาร์ม และเบอร์ตัวเลขตั้งแต่ 0 – 9 โดยมีความสูงของเบอร์ประมาณ 3 นิ้ว หนาประมาณ 1.5 -2 หุน ส่วนรหัสฟาร์มอาจสูง 3 – 4 นิ้ว การตีโดยการบังคับโคให้นิ่ง อาจตีโดยการล้ม หรือตีในซองบังคับสัตว์ จากนั้นนำเบอร์ที่เผาไฟให้ร้อนแดง ออกจากไฟ ปล่อยให้เบอร์เปลี่ยนเป็นสีขาวแล้วค่อยประทับเบอร์ลงบนผิวหนังบริเวณตะโพกด้านซ้าย โดยนาบไว้ประมาณ 3 – 5 วินาที ตามแต่ความร้อนของเบอร์ที่ใช้ตี ให้สังเกตจะมีรอยไหม้สีเหลืองเป็นแนวตามรอยเหล็กที่ใช้ตีเบอร์ จากนั้นใช้ลิควิด พาราฟิล หรือน้ำมันพืชทาบริเวณรอยแผลเพื่อป้องกันน้ำถูกแผล จากนั้นประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ แผลจะเริ่มตกสะเก็ดและหายไป ข้อควรระวังหากแผลเปิดมักมีแมลงวันมาวางไข่ สามารถป้องกันได้โดยใช้ยากันแมลงวัน และยาที่ใช้รักษาแผลทั่วไป

ภาพที่  5.12  เหล็กสำหรับตีเบอร์โค

ภาพที่  5.13  โคที่ตีเบอร์ตำแหน่งสะโพก

ตำแหน่งที่ทำการตีเบอร์

-ตีที่บริเวณตะโพกด้านซ้ายของตัวสัตว์ประกอบด้วย รหัสฟาร์ม

-ตีที่บริเวณตะโพกด้านซ้ายใต้รหัสฟาร์มคือ ลำดับที่โคเกิด

-ตีที่บริเวณตะโพกด้านซ้ายใต้ลำดับที่โคเกิดคือ ปี พ.ศ. ที่โคเกิด

-ตีที่บริเวณขาหน้าด้านซ้าย  คือ เดือนที่โคเกิด

  1. การเลี้ยงโคสาว

โคสาว หมายถึง โคเพศเมียที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป หรือน้ำหนักตั้งแต่ 240 กก. จนมีน้ำหนักถึง 280 กก. (หรืออายุประมาณ 18 เดือน) การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (puberty) มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องหลายปัจจัย เช่น อาหาร อายุ การจัดการสิ่งแวดล้อม  การคัดโคสาวเข้าผสมพันธุ์ ควรคัดโคสาวเข้าผสมพันธุ์ให้มากกว่าจำนวนแม่โคที่คัดออกไม่ต่ำกว่า 2 เท่า การคัดโคสาวควรคัดโคที่มีโอกาสผสมติดสูงและหนังบาง ช่วงลำคอที่ราบเรียบ มีลักษณะคล้ายโคนม ควรคัดโคที่มีลักษณะคล้ายตัวผู้ออก

การประมาณน้ำหนักจากสัดส่วนร่างกาย

การทราบน้ำหนักโคสามารถช่วยให้ผู้เลี้ยงทราบว่าการจัดการเลี้ยงดูของตนเองถูกต้องหรือไม่ โคเติบโตได้ตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ การใช้เครื่องชั่งในการชั่งน้ำหนักโคจะมีราคาแพงไม่เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย นอกจากจะเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ หรือเป็นตาชั่งรวมประจำกลุ่มหรือหมู่บ้านวิธีที่สะดวกก็คือ การวัดรอบอกโค โดยวัดเป็นหน่วยเซนติเมตร แล้วนำความยาวรอบอกโคมาเทียบเป็นน้ำหนักตัวตามตารางในภาคผนวก โดยตำแหน่งที่ทำการวัดจะวัดบริเวณอกชิดซอกขาของโค

ภาพที่  5.14  การวัดรอบอกโคเพื่อประมาณน้ำหนักของโค

  1. การเลี้ยงโคขุน

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงโค คือ มีเงินลงทุนประมาณ 40,000 บาท ซื้อโคมาจากตลาดนัด โค-กระบือ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จำนวน 4 ตัว มาเลี้ยงขุนประมาณ 2-3 เดือน ก็สามารถขายได้ จากราคาต้นทุนตัวละ 10,000 บาท ขายได้ตัวละ 15,000 -17,000 บาท เห็นว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี จึงเลี้ยงต่อเนื่องมาเรื่อยๆ การเลี้ยงในแต่ละรุ่นจะเลี้ยงในปริมาณไม่มาก รุ่นละไม่เกิน 10 ตัว โดยเลือกซื้อวัวที่ผอม แต่โครงสร้างดี มาขุนจนอ้วนท้วนสมบูรณ์ จากนั้นจึงนำไปขายเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และสำหรับเกษตรกรผู้สนใจอาชีพเลี้ยงโคเนื้อ คุณสว่าง แนะนำเทคนิคการจัดการเลี้ยงดูโคขุนระยะสั้น แบบประหยัด ดังนี้

ภาพที่  5.15  สภาพโคที่เหมาะกับการนำไปขุน    (ที่มา: http://www.rakbankerd.com, 2555)

วิธีการเลี้ยง

  1. การคัดเลือกโคมาเลี้ยงขุนและการจัดการโรงเรือน

ซื้อโคอายุประมาณ 1 ปีที่มีโครงสร้างลักษณะดี ไม่แคระแกรน โดยเน้นโคเพศผู้เป็นหลัก เพราะจะโตเร็วและอัตราการแลกเนื้อสูง อีกทั้งใช้ระยะเวลาในการขุนให้อ้วนท้วนสมบูรณ์สั้นกว่าเพศเมีย โดยคุณสว่างจะซื้อมาครั้งละประมาณ 4-5 ตัว ที่ตลาดนัดโค-กระบือ จากนั้นนำมาเลี้ยงในคอกที่เตรียมไว้ ซึ่งคอกที่เลี้ยงจะเป็นพื้นดิน มุงด้วยจาก ตีไม้กั้นทำเป็นบล็อกๆ มีรางน้ำอยู่ข้างหลัง และรางอาหารอยู่ข้างหน้า

  1. การให้อาหาร

การให้อาหาร โคที่เลี้ยงขุนจะให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยจะให้ฟางข้าวที่ราดด้วย EM เจือจาง (EM เจือจาง : Em 2-3 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 10 ลิตร ผสมให้เข้ากันจากนั้นสามารถนำไปใช้ได้ทันที) ร่วมกับอาหารโคขุนที่ผสมเอง

สูตรอาหารโคขุนแบบประหยัด

วัตถุดิบ

  1. มันเส้น 50 กก.
  2. กากปาล์ม 11 กก.
  3. ถั่วเหลืองบด 4 กก.
  4. ใบกระถิ่น 6 กก.
  5. ข้าวโพดบด 6 กก.
  6. กากมะพร้าว 6 กก.
  7. รำอ่อน 12 กก.
  8. ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 2 กก.
  9. พรีมิก 2 ขีด
  10. ไดแคลเซียม 1 กก.
  11. เกลือ 1 กก.
  12. กากน้ำตาล 11 กก.

วิธีทำ

นำมันเส้นราดด้วยกากน้ำตาลผสมให้เข้ากันก่อน จากนั้นคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน สามารถนำไปให้โคกินได้เลย ที่เหลือนำไปบรรจุในกระสอบเพื่อนำมาให้โคกินในรอบต่อไป การผสม 1 ครั้ง สามารถใช้ได้นาน 1 อาทิตย์ ถ้านานกว่านั้นอาจจะเกิดรา และเสียคุณค่าทางอาหารได้

การนำไปใช้

จะให้เช้า- เย็น วันละประมาณ 5 กิโลกรัม/ตัว (แล้วแต่สายพันธุ์และความต้องการของโค) โดยคุณสว่างจะสังเกตโคที่เลี้ยง บางตัวอาจจะกินเยอะก็ให้เยอะหน่อย บางตัวกินน้อย ก็จะปรับลดปริมาณลง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายไปในตัว (การให้อาหารเยอะเกินไป จนเหลือทิ้งจะเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย)

  1. การให้น้ำ

ให้โคมีน้ำกินตลอดเวลา โดยให้กินน้ำ EM เจือจาง (EM เจือจาง : Em 2-3 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 10-20 ลิตร ผสมให้เข้ากันจากนั้นสามารถนำไปให้โคกินได้ทันที) เพื่อให้โคสุขภาพจิตดี ระบบขับถ่ายดี และมูลไม่มีกลิ่นเหม็น สามารถเลี้ยงในพื้นที่ใกล้ชุมชนได้ ไม่เป็นที่รังเกียจของเพื่อนบ้านที่อยู่ข้างเคียง

  1. การดูแลเลี้ยงดู

ผู้เลี้ยงต้องคอยหมั่นเดินตรวจดูรางน้ำ รางอาหาร และความสะอาดภายในคอกทุกวัน วันละ 3 ครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น) เพื่อให้โคมีอาหารกินตลอดเวลาและอยู่ในพื้นที่ๆสะอาด โคที่เลี้ยงก็จะมีสุขภาพจิตดี เลี้ยงง่าย โตเร็ว และเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงสูง

ข้อดีของการเลี้ยงโคขุนรูปแบบนี้ คือ

-ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น เพียงรุ่นละ 2-3 เดือนก็สามารถจับขายได้ ปีหนึ่งสามารถเลี้ยงได้ 3-4 รุ่น

-สามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่อง

-ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากใช้อาหารที่ผสมเองจากวัตถุดิบหาง่ายในท้องถิ่นเป็นหลัก

-โคสุขภาพจิตดี และมูลไม่เหม็น เนื่องจากมีการผสมจุลินทรีย์ในอาหารและน้ำ

-นอกจากจะมีรายได้จากการขายโคขุนแล้ว มูลโคยังสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยสำหรับพืชได้อีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *