ฟาร์มโคเนื้อ

ซองบังคับวัวแบบต่างๆ
June 13, 2017
ฝึกทำห่วงเชือกใช้บังคับโค
June 13, 2017

ฟาร์มโคเนื้อ

ฟาร์มโคเนื้อ

ฟาร์มโคเนื้อ ต้องมีการขึ้นทะเบียนฟาร์มและทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ และหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อมี 4 องค์ประกอบ คือ

1. องค์ประกอบของฟาร์มโคเนื้อ

1.1 ทำเลที่ตั้งของฟาร์ม

1.1.1 ฟาร์มโคเนื้อต้องตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์ ที่ผู้เลี้ยงสามารถที่จะไปดูแลได้สะดวก ต้องห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะ โรงฆ่าสัตว์และตลาดนัดค้าสัตว์

1.1.2 ได้รับการยินยอมจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในกรณีฟาร์มใหม่ ส่วนในกรณีฟาร์มเก่าควรอยู่ห่างชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดมลภาวะ

1.2 ลักษณะฟาร์ม

1.2.1 เนื้อที่ของฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อ ควรมีพื้นที่เพียงพอให้โคทุกตัวได้พักผ่อนและมีร่มเงากันความร้อน

1.2.2 แหล่งน้ำภายในฟาร์มต้องสะอาดเหมาะสมแก่การบริโภค และมีเพียงพอสำหรับใช้อุปโภค บริโภค ตลอดปี

1.3 ลักษณะของโรงเรือน

1.3.1 โรงเรือนควรสร้างให้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่โคแต่ละช่วงอายุ มีคอกกั้นเป็นสัดส่วน

1.3.2 โรงเรือน ควรสร้างขึ้นด้วยวัสดุที่คงทนถาวร และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและตัวสัตว์ มีลักษณะเป็น หลังคายกสูงโปร่งไม่ต่ำกว่า 2.5 เมตร อากาศถ่ายเทได้ดี มีวัสดุบังลมและวัสดุกันร้อน

1.3.3 พื้นที่ปฏิบัติงานมีขนาดเหมาะสมกับจำนวนโคที่เลี้ยง และสะดวกในการปฏิบัติงาน ไม่มีสิ่งล่อแหลมต่อการเกิดอุบัติเหตุ มีซองบังคับสัตว์ที่เหมาะสม

1.3.4 พื้นโรงเรือนควรเป็นพื้นเรียบ กรณีเป็นพื้นดินต้องเป็นพื้นดินอัดแน่น ไม่ลื่น น้ำไม่ขัง ทำความสะอาดง่าย และมีระบบระบายน้ำที่ดี ไม่เป็นที่สะสมของสิ่งปฏิกูลที่เกิดขึ้นภายในโรงเรือน

1.3.5 มีรางอาหารทำด้วยวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวสัตว์ มีปริมาณเพียงพอกับขนาดและจำนวนของโคที่เลี้ยงในแต่ละโรงเรือน

1.3.6 มีภาชนะบรรจุน้ำกินที่ทำด้วยวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย มีปริมาณเพียงพอ

2. การจัดการฟาร์ม

2.1 การจัดการโรงเรือนและอุปกรณ์เลี้ยงโค

ต้องจัดการโรงเรือนและอุปกรณ์เลี้ยงโคให้สะดวกในการปฏิบัติงาน มีความสะอาด มีอุปกรณ์ พื้นฐานที่จำเป็น ในการเลี้ยงโค ดังนี้

2.1.1 มีคอกพักสัตว์ สำหรับโคที่นำเข้ามาใหม่หรือสัตว์ป่วย

2.1.2 คอกขุน

2.1.3 คอกคัดสัตว์สำหรับคัดแยกโค

2.1.4 ซองบังคับสัตว์ สำหรับรักษาสัตว์ป่วย ให้ยาสัตว์และตรวจการตั้งท้อง

2.1.5 สถานที่เก็บอาหารสัตว์ ต้องมิดชิดเป็นสัดส่วน และมีมาตรการในการป้องกันสัตว์พาหะนำเชื้อ และสามารถป้องกันการเสื่อมสภาพของอาหารได้

2.1.6 สถานที่เก็บอุปกรณ์

2.1.7 รางอาหาร สะอาดและเพียงพอกับจำนวนโค

2.1.8 ภาชนะบรรจุน้ำ สะอาดและเพียงพอกับจำนวนโค

2.1.9 พื้นคอกมีการทำความสะอาดสม่ำเสมอ ไม่มีมูลสัตว์สะสมข้างคอก

2.2 การจัดการรอบโรงเรือน

ทำความสะอาดรอบ ๆ รั้วของโรงเรือน มิให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและแมลงต่าง ๆ ที่เป็นพาหะนำโรค

2.3 การจัดการฝูงโคตามวัตถุประสงค์

มีการเก็บทดแทนและคัดโคออกจากฝูง โดย

2.3.1 มีการเก็บโคเพศเมียไว้ทดแทนภายในฝูง

2.3.2 มีการเปลี่ยนพ่อพันธุ์ (ถ้ามี) ไว้ทดแทนภายในฝูง

2.3.3 คัดออกโคสาวที่มีลักษณะผิดปกติออกจากฝูง

2.4 การจัดการด้านอาหารสัตว์

2.4.1 จัดให้มีอาหารหยาบและอาหารข้นที่มีคุณภาพดีเพียงพอกับความต้องการของสัตว์ โดยเฉพาะอาหารข้น ที่ซื้อมา ต้องมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์

2.4.2 การขนส่งอาหารสัตว์จากผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้นำเข้ามาสู่ฟาร์ม ต้องรักษาสภาพของอาหารสัตว์ตลอดการขนส่ง

2.4.3 กรณีอาหารสัตว์ผสมเอง ให้คำนึงถึงคุณภาพอาหารสัตว์ตามช่วงวัยของสัตว์ และต้องไม่ใช้สารต้องห้าม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์

2.4.4 ควรตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์อย่างสม่ำเสมอ หรือติดตามจากการสุ่มตรวจของเจ้าหน้าที่

2.4.5 อาหารสัตว์ควรบรรจุในภาชนะที่แห้ง สะอาด กันความชื้นได้ ควรเก็บอาหารข้นไว้ในโรงเรือนสูง โปร่ง สะอาด มีการระบายอากาศอย่างดี ปราศจากนก หนู อันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่อาหารนั้น

2.5 การบันทึกข้อมูล

2.5.1 ข้อมูลเครื่องหมายตัวสัตว์

2.5.2 ข้อมูลประวัติ พันธุ์ และการผสมพันธุ์

2.5.3 ข้อมูลผลผลิตโดยบันทึกเป็นน้ำหนักหรือวัดรอบอก ส่วนสูงของโคในช่วงอายุต่าง ๆ

2.5.4 ข้อมูลสุขภาพสัตว์ การรักษาโรค การป้องกันและควบคุมโรค

2.5.5 ข้อมูลการจัดการอาหารสัตว์

2.6 บุคลากร

มีการจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละตำแหน่งอย่างชัดเจน ดังนี้

2.6.1 บุคลากรผู้ดูแลด้านการรักษาและการใช้ยาสำหรับสัตว์ ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง

2.6.2 บุคลากรผู้จัดการเลี้ยงดูฝูงโค มีความรู้ความเข้าใจในการวางแผนปรับปรุงพันธุ์ การจัดการฟาร์มและจัดการด้านอาหารสัตว์ ช่วยให้คำแนะนำด้านการวางแผนปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ การจัดการฟาร์มและด้านอาหารสัตว์

2.6.3 การเลี้ยงดูฝูงโคควรมีจำนวนแรงงานพอเพียงกับจำนวนโคที่เลี้ยง โดยให้มีจำนวนแรงงานตามสิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดไว้ภายในฟาร์ม

2.6.4 บุคลากรที่ทำงานในฟาร์มควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนหรือจากคนสู่สัตว์ เช่น โรควัณโรคซึ่งตรวจโดยวิธีเอ็กซ์เรย์

2.7 การจัดหาคู่มือการจัดการฟาร์ม

มีเอกสารเกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม การเลี้ยงดู การให้น้ำ อาหาร การป้องกันโรค การจัดการด้านสุขภาพสัตว์ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ไว้ใช้เป็นคู่มือสำหรับผู้ประกอบการในการปฏิบัติ

3. การจัดการด้านสุขภาพสัตว์

3.1 การป้องกันและควบคุมโรค

3.1.1 มีการป้องกันและทำลายเชื้อโรคก่อนเข้าและออกจากฟาร์ม

3.1.2 มีการควบคุมสุขลักษณะของพื้นคอก รางอาหารและภาชนะบรรจุน้ำ ไม่ให้เป็นแหล่งของเชื้อโรค

3.1.3 มีโปรแกรมการสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยให้วัคซีนโรคปากเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย และโปรแกรมการกำจัดพยาธิภายในและภายนอก

3.1.4 มีการตรวจโรควัณโรคและโรคแท้งติดต่อเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง และรับรองผลการตรวจโดยสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม

3.1.5 กรณีเกิดโรคระบาด ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมโรคระบาดสัตว์

3.2 การรักษาโรค

3.2.1 การรักษาโรคและการใช้ยาต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

3.2.2 การใช้ยาต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการใช้ยาสำหรับสัตว์ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

(มอก.7001-2540) และตามใบสั่งยาของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม

4. การจัดการสิ่งแวดล้อม

4.1 การกำจัดขยะมูลฝอย ต้องมีการรวบรวมไว้ในภาชนะรองรับขยะมูลฝอยซึ่งมีฝาปิดมิดชิด และนำไปทิ้งในบริเวณที่เหมาะสม

4.2 การจัดการซากสัตว์ให้ดำเนินการอยู่ในดุลพินิจของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม กรณีทำลายให้ทำการฝังไว้ ใต้ระดับผิวดิน ไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ใช้ยาฆ่าเชื้อโรคราด หรือใช้ปูนขาวโรยจนทั่ว แล้วกลบดินปิดปากหลุมและพูนดินกลบหลุมเหนือระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

4.3 มูลสัตว์ เก็บกวาดไม่ให้หมักหมมภายในโรงเรือน หรือนำไปทำปุ๋ยหรือก๊าซชีวภาพ เพื่อไม่ให้เกิดกลิ่นที่ทำให้เกิดความรำคาญต่อผู้อยู่อาศัยข้างเคียง

4.4 น้ำเสีย ฟาร์มจะต้องจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียให้เหมาะสม และมีคุณภาพตามที่ทางราชการกำหนดก่อนปล่อยออกนอกฟาร์ม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *