ศิลปะในการต้อนและบังคับโค # ” การไล่ต้อนโค ”

ฝึกทำห่วงเชือกใช้บังคับโค
June 13, 2017
การควบคุมพฤติกรรมสัตว์
June 13, 2017

ศิลปะในการต้อนและบังคับโค # ” การไล่ต้อนโค ”

ศิลปะในการต้อนและบังคับโค # ” การไล่ต้อนโค ”

ในสมัยก่อนที่ยังมีพื้นที่สำหรับปล่อยฝูงโคลงแทะเล็มแปลงหญ้าธรรมชาติอย่างมหาศาล พื้นที่ของแต่ละบ้านยังไม่มีการสร้างแนวรั้วแบ่งแยกกั้นเขตแดนระหว่างกัน ยังคงมีสภาพเป็นท้องทุ่งกว้างสุดลูกหูลูกตา ภาพที่เรามักจะพบเห็นกันอยู่เป็นประจำจนชินตาก็คือ ฝูงโคขนาดใหญ่บ้างก็กำลังก้มหน้าก้มตากินหญ้าบ้างก็กำลังวิ่งเล่นหยอกล้อกันอย่างสนุกสนานอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้า โดยมีนายฮ้อยคอยถือไม้ไผ่ ไม้รวก หรือหนังสติ๊ก พร้อมด้วยลูกกระสุนก้อนกลมที่ปั้นจากดินเหนียว คอยยืนคุมเชิงอยู่ไม่ไกลจากฝูงโคมากนัก โดยบางทีก็มีสุนัขคู่กายหรือม้าแกลบคู่ใจคอยไปช่วยงานอย่างแข็งขัน

ในบางครั้งนายฮ้อยแต่ละคนก็จะนำฝูงโคของตนเองมาเลี้ยงรวมกันและคอยเป็นหูเป็นตาให้แก่กัน พอเข้าสู่ฤดูกาลทำนาเหล่าบรรดานายฮ้อยน้อยใหญ่ต่างก็พากันต้อนฝูงโคไปเลี้ยงยังบริเวณที่ราบเชิงเขาหรือตามภูเขาใกล้หมู่บ้าน ส่วนในรายที่อยู่ในพื้นที่ราบไม่ติดภูเขาก็จะเลี้ยงแบบขังคอกแล้วจึงเกี่ยวหญ้าหรือนำฟางข้าวมาให้กินถึงคอก เพื่อป้องกันไม่ให้ฝูงโคเดินลงไปลุยเหยียบย่ำและกัดกินต้นข้าวที่ได้ปลูกเอาไว้ หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นลงเหล่านายฮ้อยก็จะพากันไล่ต้อนโคกลับลงมายังทุ่งนาเหมือนเดิม เพื่อมาเก็บกินฟางข้าวและเมล็ดข้าวที่ตกหล่นอยู่ตามพื้นดิน หลายๆคนอาจมองว่าการต้อนโคเป็นเรื่องง่ายๆ แค่ไล่ให้เดินไปยังที่ที่ต้องการเท่านั้นเอง สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนถ้าได้ลองให้มาไล่ต้อนดูสักครั้ง รับรองได้เลยว่าต้องปาดเหงื่อหรือไม่ก็อาบเหงื่อต่างน้ำไปตามๆกันเลยทีเดียว อาจกล่าวได้ว่าการไล่ต้อนโคถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งก็ว่าได้ จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้และประสบการณ์เข้ามามีส่วนช่วยในการเลี้ยงดูและการจัดการเพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราลองมาศึกษาเรียนรู้ถึงวิธีการปฏิบัติในเบื้องต้น เพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันนะครับ

โดยปกติทั่วไปเรามักจะเห็นการต้อนโคด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่การยกแขนยกขา ถือไม้ไล่ตีไปมา ส่งเสียงดัง หรือตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ซึ่งจริงๆแล้วควรที่จะต้องไล่ต้อนด้วยความสงบเงียบ ปราศจากการส่งเสียงดังและไม่ใช้ความรุนแรง จะใช้วิธีค่อยๆเดินไล่ต้อน ขี่ม้า หรือขับรถก็ได้ โดยปกติแล้วโคมีมุมมองที่ค่อนข้างกว้างสามารถชายตามองไปข้างๆได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องหันตัวกลับไป หรือแม้ว่าในขณะที่กำลังก้มแทะเล็มหญ้าอยู่ก็ยังคงชำเลืองดูตัวอื่นที่อยู่ข้างๆอยู่เสมอ ยกเว้นในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ไปเป็นฝูง โคจะมองไม่เห็นบริเวณด้านหลังซึ่งจะเป็นจุดบอดที่ตาไม่สามารถมองไม่เห็นได้ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้โคสามารถเกาะกลุ่มกันได้ โดยลักษณะการเกาะกลุ่มกันนั้นมักจะอยู่ในตำแหน่ง A และ B เสมอ (ดังรายละเอียดที่แสดงในแผนภาพที่ 1)

แสดงขอบเขตรัศมีความกลัวของโค

พื้นฐานขั้นแรกสำหรับผู้ที่จะทำการไล่ต้อนฝูงโค ประเด็นสำคัญคือ ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขต หรือรัศมีความกลัวของโคให้ดี(เส้นรัศมีวงกลมในแผนภาพที่ 1) ผู้ไล่ต้อนจะต้องเข้าไปให้ใกล้พอที่จะกดดันและบังคับโคให้เคลื่อนไหว ถ้าโคเคลื่อนที่เร็วเกินไปแสดงว่าตัวเราล่วงล้ำเข้าไปในเขตรัศมีความกลัวของโค ดังนั้นจะต้องถอยห่างออกไปอีก

ขอให้เราเข้าใจไว้อย่างหนึ่งว่าโคแต่ละตัวมีขอบเขตความกลัวของมันเอง โดยเป็นบริเวณหรือขอบเขตที่เป็นส่วนตัว เมื่อไรก็ตามที่เราเดินไล่ต้อนเข้ามาในเขตนี้ โคก็จะเคลื่อนที่หนีทันที และเมื่อเคลื่อนที่ออกจากขอบเขตบริเวณดังกล่าวแล้ว โคก็จะหยุดนิ่งดังเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ได้มีข้อสงสัยว่าขอบเขตรัศมีความกลัวดังกล่าวนั้นมีความกว้างสักเท่าไร

จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆสามารถอธิบายได้ว่าขอบเขตความกลัวของโคขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ความปราดเปรียวและความเชื่องของโคแต่ละตัวและแต่ละฝูง หรือแม้แต่มุมหรือตำแหน่งที่ผู้ไล่ต้อนเดินเข้าไปหาโค ขอบเขตความกลัวจะกว้างมากถ้าเราเดินเข้าไปทางตอนหน้าหรือทางด้านหัวของโค และจะยิ่งกว้างออกไปมากขึ้นเมื่อโคตกใจกลัว และขอบเขตความกลัวจะแคบลงในขณะที่โคอยู่ในซองบังคับ

ฝูงโคที่อยู่ในแปลงหญ้าหรือทุ่งโล่งกว้างก็เช่นเดียวกัน เราสามารถบังคับให้ฝูงโคเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่เราต้องการได้โดยการเคลื่อนที่เข้าหาและถอยห่างจากฝูงโคอย่างต่อเนื่อง ดังรายละเอียดที่แสดงในแผนภาพที่ 2 ถ้าฝูงโคเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ ผู้ไล่ต้อนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าใกล้ควรถอยออกมาให้ห่าง สำหรับการไล่ต้อนในพื้นที่จำกัด อย่างเช่น ทางเดินแคบๆที่มีรั้วหรือคอกพักรวม ผู้ไล่ต้อนควรใช้ความระมัดระวังอย่าเข้าใกล้โคมากจนเกินไป เพราะจะทำให้โคตื่นตกใจ จนอาจทำให้วิ่งชนรั้วคันคอก หรือไม่ก็กระโดดข้ามรั้วไปเลยก็ได้

 

แผนภาพที่ 2 แสดงวิธีการไล่ต้อนฝูงโคในแปลงหญ้า

ถ้าโคที่อยู่ในซองบังคับหยุดเดินหรือเริ่มเดินถอยหลัง หรือฝูงโคที่อยู่ในช่องทางเดินแคบๆเริ่มกลับตัว ผู้ไล่ต้อนต้องเคลื่อนตัวเองออกมาให้ห่าง และเยื้องไปทางด้านหลังให้ต่ำกว่าแนวเส้นสมดุลของความกลัวหรือแนวไหล่ของโค(Pointof Balance)

แผนภาพที่ 3 แสดงวิธีการไล่ต้อนฝูงโคในซองบังคับ

ดังรายละเอียดที่แสดงในแผนภาพที่ 3 ถ้าผู้ไล่ต้อนยืนอยู่หน้าแนวไหล่ โคก็จะเดินถอยหลังหรือไม่ก็หันหลังหนีไปเลย แต่ถ้าผู้ต้อนยืนอยู่หลังแนวไหล่ โคก็จะเคลื่อนที่มาข้างหน้า และถ้ายืนอยู่ตรงตำแหน่ง A (ตำแหน่งเดียวกับแผนภาพที่ 1) โคจะหยุดนิ่ง แต่ถ้าย้ายไปตรงที่ตำแหน่ง B (ตำแหน่งเดียวกับแผนภาพที่ 1) โคก็จะเคลื่อนที่มาข้างหน้าและเฉออกเล็กน้อย

แผนภาพที่ 4 แสดงการออกแบบซองบังคับให้มีความโค้งตามพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของโค

จากหลักการนี้เองที่ใช้ในการออกแบบซองบังคับให้มีความโค้ง ดังรายละเอียดที่แสดงในแผนภาพที่ 4 แต่อย่าลืมว่าห้ามเข้าไปยืนตรงบริเวณจุดบอด(Blind spot) ซึ่งอยู่บริเวณส่วนท้ายของโค เพราะว่าโคจะไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้โคหยุดเดินและหันกลับมามองว่าผู้ไล่ต้อนอยู่ตรงไหน การไล่ต้อนที่ดีโคจะค่อยๆเดินไปเรื่อยๆตามตัวที่เดินนำหน้า ไม่แสดงอาการเครียดหรือตกใจ ซึ่งจะช่วยทำให้โคเชื่องและคุ้นกับคนมากขึ้น ค่อยๆฝึกไปเรื่อยๆโคจะเกิดการเรียนรู้ ผลต่อไปจะทำให้การควบคุมฝูงโคเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ฝูงโคก็เปรียบเสมือนกับรถยนต์ การที่เราจะบังคับทิศทางได้ก็ต้องให้รถยนต์เคลื่อนที่เสียก่อน การบังคับทิศทางการเคลื่อนไหวของฝูงโคทำได้ไม่ยาก ดังรายละเอียดที่แสดงในแผนภาพที่ 5 เป็นวิธีการไล่ต้อนฝูงโคในขณะที่อยู่ในแปลงหญ้า โดยเป็นการไล่ต้อนให้เดินเลาะไปตามริมรั้ว วิธีการนี้ถ้าเลี้ยงเป็นฝูงเล็กๆก็สามารถใช้ผู้ไล่ต้อนเพียงคนเดียวได้ เพราะโดยธรรมชาติและพฤติกรรมของโคที่อยู่รวมกันเป็นฝูงนั้น การเคลื่อนที่หรือการเดินมักจะมีตัวที่เดินนำหน้าฝูงเสมอ ผู้ไล่ต้อนเพียงแต่คอยควบคุมการเดินและบังคับทิศทางของฝูงโค แต่ถ้าหากเลี้ยงเป็นฝูงใหญ่จะต้องใช้ผู้ไล่ต้อนอย่างน้อย 2 คน

แผนภาพที่ 5 แสดงวิธีการไล่ต้อนฝูงโคในแปลงหญ้า

โดยที่ผู้ไล่ต้อนคนที่ 1 จะต้องคอยบังคับและควบคุมการเดินของโคตัวที่เดินนำหน้าหรือจ่าฝูง จะต้องเดินไปพร้อมๆกับโคด้วยความสงบเรียบร้อย โดยให้เดินอยู่ในระดับตรงกับบริเวณแนวไหล่ตัดกับขอบเขตรัศมีความกลัว ในขณะที่โคเคลื่อนที่จะเดินทำมุมเฉียงออกเล็กน้อย แต่ถ้าโคเริ่มเดินช้าลงหรือหยุดนิ่งให้ค่อยๆเดินตรงเข้าไปหาโคในแนวตั้งฉากกับรัศมีความกลัว เมื่อโคเริ่มเคลื่อนไหวจึงค่อยเดินย้อนกลับมาในแนวทำมุมเฉียงเข้าเล็กน้อย เมื่อปฏิบัติเช่นนี้โคจะเดินอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ไล่ต้อนคนที่ 2 จะต้องคอยควบคุมการเดินของโคในกลุ่มหลังและปฏิบัติเช่นเดียวกับคนแรก เพียงแต่ขอบเขตรัศมีการเดินจะกว้างกว่า การเดินขนานไปกับฝูงโครวมทั้งระยะห่างระหว่างผู้ไล่ต้อนคนที่ 1 กับคนที่ 2 ถ้าเดินห่างจากกันมากเกินไปจะทำให้โคแตกฝูงได้ ประสบการณ์ของผู้ไล่ต้อนเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเราจะรู้ว่าควรอยู่ห่างจากฝูงโคเท่าใด และยิ่งถ้าฝูงโคได้รับการฝึกฝนมาพอสมควรจนเกิดการเรียนรู้ การไล่ต้อนจะง่าย ความยุ่งยากต่างๆจะไม่เกิดขึ้น

ในบางครั้งการไล่ต้อนโคฝูงใหญ่จำนวนมากๆ อาจมีพวกที่แตกฝูงได้ ในเบื้องต้นเราอย่าตกใจ หรือรีบไล่ต้อนโคกลุ่มนั้นในทันที โดยเฉพาะการไล่ต้อนจากทางด้านหลัง เพราะอาจทำให้โคตกใจกลัวและวิ่งเตลิดหนีไป วิธีการที่ถูกต้องควรปฏิบัติดังรายละเอียดที่ได้แสดงในแผนภาพที่ 6 กล่าวคือ ผู้ไล่ต้อนจะต้องค่อยๆเดินเข้าหาโคตัวที่อยู่ตอนท้ายของโคกลุ่มที่แตกฝูง โดยห้ามใช้เสียงหรือความรุนแรง ทิศทางการเดินเข้าหาควรทำมุมเล็กน้อย เดินเข้าไปจนถึงแนวไหล่ ที่สำคัญก็คือ อย่าเดินเลยแนวไหล่ไปจนถึงตำแหน่ง A และ B (ตำแหน่งเดียวกับแผนภาพที่ 1) เพราะจะทำให้บังคับทิศทางไม่ได้ กลุ่มโคอาจเดินเฉออกจากแนวที่ต้องการ เมื่อโคเข้าหาฝูงใหญ่เรียบร้อยแล้ว ผู้ไล่ต้อนจะต้องเดินย้อนกลับในแนวที่เฉียงออกเล็กน้อย ส่วนการที่จะเดินเข้าหาโคทางด้านซ้ายหรือขวานั้นขึ้นอยู่กับว่าฝูงโคอยู่ทิศทางไหน จากแผนภาพที่ 6 จะเห็นได้ว่าโคฝูงใหญ่อยู่ตอนหน้าเยื้องไปทางด้านซ้าย ดังนั้นผู้ไล่ต้องเข้าทางด้านขวา เพื่อบังคับให้โคค่อยๆเดินเยื้องไปทางซ้ายเข้าหาฝูงใหญ่

แผนภาพที่ 6 แสดงวิธีการไล่ต้อนโคแตกฝูงกลับเข้าฝูงใหญ่

ในการไล่ต้อนฝูงโคเข้าหรือออกจากคอกนั้น ไม่ว่าจะเป็นคอกพัก คอกรวม หรือคอกปฏิบัติการ วิธีการค่อยๆบังคับโดยการเพิ่มและลดความกดดันจะช่วยให้การเคลื่อนที่ของโคเป็นไปอย่างต่อเนื่องค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญเราสามารถควบคุมได้โดยตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้โคเกิดการเรียนรู้ เราไม่ควรปล่อยให้โคเบียดแย่งกันวิ่งเข้าหรือออกจากคอก เพราะต่อไปจะทำให้โคมีนิสัยเคยตัว ตื่นตกใจง่าย เปรียว ไม่เชื่อง และไม่คุ้นเคยกับคน

ดังรายละเอียดที่แสดงในแผนภาพที่ 7 เป็นการควบคุมการเข้าคอกของฝูงโค โดยที่ผู้ไล่ต้อนควรควบคุมให้ฝูงโคเข้าคอกอย่างเป็นระเบียบไม่แย่งกันเข้าคอก โดยการเคลื่อนที่เข้าและออกในแนวตั้งฉากกับขอบเขตรัศมีความกลัว(ไม่ควรเคลื่อนที่ในแนวขนานเพราะโคจะแย่งกันวิ่งเข้าคอก) แต่อย่าเคลื่อนที่เข้าไปใกล้เกินไป เพราะโคบางตัวอาจตกใจกลัวจนวิ่งเข้าชนคันคอกหรือรั้วจนบาดเจ็บ เมื่อโคเข้าคอกเรียบร้อยแล้วจึงปิดประตู ให้ยืนอยู่ที่ประตูสักพักหนึ่งเพื่อให้โคหันกลับมามองจะเป็นการหัดให้โคเรียนรู้วิธีการควบคุมของเรา วิธีการนี้ใช้ได้ทั้งการไล่ต้อนโคทั้งเข้าและออกจากคอก

 

แผนภาพที่ 7 แสดงวิธีการไล่ต้อนโคเข้าคอก

สำหรับการไล่ต้อนโคออกจากคอกและต้องการคัดแยกโคบางตัวออกจากฝูงนั้น มีวิธีปฏิบัติดังรายละเอียดที่แสดงในแผนภาพที่ 8 โดยจะต้องใช้ผู้ไล่ต้อนอย่างน้อย 2 คน คนหนึ่งจะเดินวนไปมาเพื่อพยายามบังคับให้โคออกจากคอก ส่วนอีกคนหนึ่งจะยืนอยู่บริเวณประตู เพื่อบังคับไม่ให้โควิ่งแต่จะค่อยๆเดินออกจากคอกแทน และในขณะเดียวกันก็จะทำการคัดแยก

โคบางตัว โดยกันไม่ให้โคตัวที่ต้องการออกจากคอก โดยการเคลื่อนที่ในแนวตั้งฉากกับประตูหรือเดินหน้าและถอยหลัง แต่อย่าเคลื่อนที่ในแนวขนานกับประตู การคัดแยกโคที่ไม่ต้องการให้ออกจากคอกทำได้โดยการเดินเข้าในแนวเฉียงทำมุมนิดหน่อย โคตัวที่ต้องการก็จะไม่กล้าออกจากคอกอาจจะถอยหลังหรือกลับตัวเดินหนีออกไป แล้วเราจึงย้อนกลับมาที่

ออกจากคอก วิธีนี้จะให้ได้ผลดีควรที่จะสร้างประตูคอกให้มีขนาดกว้างพอสมควร ไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป เพื่อสะดวกในการบังคับ วิธีการนี้ไม่ใช่เฉพาะการไล่ต้อนฝูงโคออกจากคอกเท่านั้น การไล่ต้อนฝูงโคเพื่อหมุนเวียนแปลงหญ้าจากแปลงหนึ่งไปยังอีกแปลงหนึ่งก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

แผนภาพที่ 8 แสดงวิธีการไล่ต้อนโคออกจากคอกและคัดแยกโคออกจากฝูง

จากวิธีการที่แนะนำมานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งผู้ไล่ต้อนและฝูงโคจะต้องผ่านการฝึกฝนและเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้เกิดความคุ้นเคย จำเป็นต้องอาศัยเวลาและความอดทน แน่นอนว่าในระยะแรกอาจจะช้าและไม่ทันใจเท่าวิธีเก่าๆที่ใช้เสียงและความรุนแรง แต่เมื่อไรที่โคเกิดการเรียนรู้และคุ้นเคยแล้ว การไล่ต้อนก็จะควบคุมได้อย่างง่ายดาย โคจะไม่เครียดหรือตื่นตกใจ กลับจะเชื่องและเกิดความคุ้นเคยกับคนมากขึ้น ถ้ามองในแง่ของการจัดการฟาร์ม การลดความเครียดของสัตว์นั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะความเครียดจะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง อาจมีผลเสียต่อการเจริญเติบโต หรือทำให้ภูมิต้านทานโรคของร่างกายลดต่ำลง มีผลต่อการหดตัวและการทำงานของระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะกระเพาะผ้าขี้ริ้ว และแน่นอนที่สุดอาจมีผลเสียต่อประสิทธิภาพและการทำงานของระบบสืบพันธุ์

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้บางอย่างเราสามารถเรียนรู้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่บางอย่างจำเป็นต้องอาศัยเวลาและความอดทน พื้นฐานแรกเริ่มก็คือ การฝึกฝนและเรียนรู้เกี่ยวกับขอบเขตรัศมีความกลัวของโคให้ดีครับ

ภาพแสดงจุดบอดของโค

อย่างไรก็ตามคอกพักและคอกปฏิบัติการที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี จะมีส่วนช่วยเสริมให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังที่จะเห็นได้จากลักษณะของคอกปฏิบัติการหรือซองบังคับแบบใหม่ที่มักจะออกแบบให้มีความโค้ง ล้วนแต่อาศัยหลักการและพื้นฐานเหล่านี้ทั้งนั้น

ภาพแสดงลักษณะโค้งของซองบังคับ

จะว่าไปแล้วการไล่ต้อนโคก็ไม่ถึงกับยากหรือง่ายอย่างที่คิด ขอแค่เพียงเราเข้าใจพฤติกรรมและธรรมชาติของโคให้ถ่องแท้ เอาใจโคมาใส่ใจเราเหมือนกับการที่เราอยากจะมัดใจใครสักคน ถ้าอยากให้คนคนนั้นหันมาสนใจและประทับใจในตัวเรา เราก็ควรศึกษาและหาข้อมูลให้ดีเสียก่อนว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้าง เพื่อให้โดนใจตั้งแต่แรกพบกัน ถ้าเดินเข้าไปสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ดูตาม้าตาเรือล่ะก็อาจโดนตอแทนที่จะโดนใจก็ได้นะครับ

ในตอนที่ 2 ผมจะมาแนะนำการปล้ำโค เอ้ย!!! การบังคับโคด้วยมือเปล่ากันนะครับ โชคดีมีความสุขกับการเลี้ยงวัวทุกท่าน สวัสดีครับ

Credit Photo : Thai Cowboy Magazine

By…..COWBOY 37 & COWBOY 62

ที่มา https://www.facebook.com/notes/ekkachai-boonchan/%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%84-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%84-/10202596756059045/

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *